สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรุ่นใหม่ เพื่อให้ก้าวต่อไปเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีที่มีความสามารถสูงของประเทศ นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างยั่งยืน สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ จึงจัดให้มีรางวัล Young Rising Stars of Science ซึ่งมี 3 ระดับ ได้แก่ Gold, Silver และ Bronze เพื่อมอบให้แก่นิสิต/นักศึกษาชั้นปีสุดท้าย ในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) และหลักสูตรที่เกี่ยวข้องจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ที่มีผลงานโครงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(senior project) โดดเด่นในแต่ละปี โดยในปี พ.ศ. 2564 นี้ได้จัดเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งนอกจากเป็นการเชิดชูเกียรติของนิสิต/นักศึกษาเหล่านี้แล้ว ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความสนใจที่จะศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งคาดหวังว่านิสิต/นักศึกษาเหล่านี้จะเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักเทคโนโลยีที่มีความสามารถสูงในระดับประเทศหรือในระดับสากลได้ต่อไป
วัตถุประสงค์
- เพื่อสร้างกำลังใจให้กับนิสิต/นักศึกษา ในการศึกษาและวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- เพื่อส่งเสริมให้นิสิต/นักศึกษา ได้มีโอกาสเข้าร่วมและเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ
- เพื่อเชิดชูเกียรติให้กับนิสิต/นักศึกษา อันเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับรุ่นน้องต่อไป
ผู้มีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อ
- เป็นนิสิต/นักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับชั้นปีสุดท้าย ในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) ทุกสาขา และในหลักสูตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (ที่ไม่ใช่หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต) ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย
- มีผลงานโครงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดดเด่นของแต่ละหลักสูตร และต้องผ่านการพิจารณาและรับรองว่าเป็นผลงานยอดเยี่ยมจากคณะที่นิสิต/นักศึกษา สังกัดอยู่ โดยเสนอชื่อมายังสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ผ่านคณบดีคณะวิทยาศาสตร์หรือคณะที่เกี่ยวข้อง
- ต้องนำเสนอผลงานเป็นภาษาอังกฤษ ในงาน International Congress on Science, Technology and Technology – based Innovation (STT) (โดยนิสิต/นักศึกษาเจ้าของผลงานอย่างน้อย 1 คน ซึ่งนิสิต/นักศึกษา 1 คนที่มานำเสนอผลงานจะได้รับการยกเว้นค่าลงทะเบียนการประชุม)
รางวัล
ผู้ได้รับการเสนอชื่อมายังสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ โดยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์หรือคณะที่เกี่ยวข้องของทุกมหาวิทยาลัย* จะได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น Young Rising Stars of Science และได้รับรางวัลดังต่อไปนี้
- เหรียญรางวัลระดับ Gold, Silver หรือ Bronze จำนวน 1 เหรียญ
- เกียรติบัตร (จำนวนฉบับเท่ากับจำนวนนิสิต/นักศึกษา ที่เป็นเจ้าของผลงาน)
- การเป็นสมาชิกรายปีของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ (นิสิต/นักศึกษา ทุกคน ที่เป็นเจ้าของ ผลงานได้รับยกเว้นค่าสมัครสมาชิกรายปีของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ เป็นเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมของปีถัดไปที่ได้รับรางวัล)
*หมายเหตุกรณีที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อมาจากหลักสูตรอื่นที่ไม่ใช่หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต จะต้องได้รับการพิจารณาความเหมาะสมของผลงานจากคณะกรรมการโครงการ YRSS ด้วย
การพิจารณาระดับเหรียญรางวัล แบ่งเป็น 9 สาขา ดังนี้
- ชีววิทยา
- เคมี
- ฟิสิกส์
- คณิตศาสตร์
- คอมพิวเตอร์
- วัสดุศาสตร์
- เทคโนโลยีทางอาหาร
- สิ่งแวดล้อม
- อื่นๆ
หมดเขตส่งผลงานภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2564
สถานที่ติดต่อ / ส่งใบสมัครได้ที่
ศาสตราจารย์ ดร. ศุภวรรณ ตันตยานนท์
ประธานโครงการ Young Rising Stars of Science Award สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
สำนักงานคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
ลงทะเบียนและส่งผลงาน (บทคัดย่อ) ได้ที่ www.scisoc.or.th ในวันที่ 20-30 มิถุนายน 2564
หากมีคำถามหรือขัดข้องประการใด โปรดติดต่อที่
E-mail: [email protected] โทรศัพท์ 02-2527987, 02-2185245 Fax 02-2524516
เอกสารแนบ
Download : โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์โครงการ Young Rising Stars of Science 2021 (YRSS 2021)
Download : โครงการ Young Rising Stars of Science 2021 (YRSS 2021)
Download : ตารางกรอกรายละเอียดผลงานและชื่อนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายที่เข้าร่วมพิจารณารับรางวัล YRSS 2021