สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์

ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

IUPAC เปลี่ยนแปลง น้ำหนักอะตอม ธาตุบางธาตุ

สพฐ. ผนึก Dow และ สมาคมเคมีฯ หนุนเด็กไทยเรียนวิทย์แนวใหม่ นำการทดลอง “เคมีแบบย่อส่วน” สู่โรงเรียนสังกัด สพฐ.

สพฐ. ผนึก Dow และ สมาคมเคมีฯ

วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนการทดลองวิทยาศาสตร์ด้วยหลักการของปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา” ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) และสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี เพื่อต่อยอดความสำเร็จโครงการห้องเรียนเคมีดาว ซึ่ง Dow และสมาคมเคมีฯ ได้ร่วมดำเนินงานมานานกว่า 9 ปี และเตรียมพร้อมขยายวิธีการเรียนวิทยาศาสตร์แนวใหม่ไปยังโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ โดยมีผู้บริหารของ สพฐ. ผู้แทนจากกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) และสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ฯ รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. เห็นความสำคัญของการยกระดับการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ การนำเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนให้กับครูและนักเรียน สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยที่ผ่านมาได้ทำการวิจัยแสดงผลของชุดการทดลองเคมีแบบย่อส่วน พบว่ามีผลเทียบเท่าห้องแล็บปกติ นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างครบถ้วน เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก ทำให้ลดช่องว่างในวิชาวิทยาศาสตร์ได้อีกทางหนึ่ง เพราะนักเรียนจะมีโอกาสลงมือปฏิบัติจริงตามแบบเรียนในหลักสูตรที่กำหนดด้วยตนเอง สอดคล้องกับนโยบายของ สพฐ. ที่ต้องการขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มสมรรถนะผู้เรียน ในศตวรรษที่ 21

สำหรับเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (Small-scale Iaboratory) เป็นวิธีการทดลองวิทยาศาสตร์ที่ใช้อุปกรณ์พลาสติกขนาดเล็กต่าง ๆ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ใกล้ตัวและหาได้ง่ายในท้องถิ่น ใช้เวลาในการทดลองสั้นลง ประหยัดสารเคมี น้ำ และพลังงาน รวมทั้งลดของเสียเพราะใช้สารเคมีปริมาณน้อยกว่านับพันเท่าเมื่อเปรียบเทียบกับการทดลองเดียวกันที่ทำแบบปกติ มีความปลอดภัยสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีค่าใช้จ่ายน้อย ใช้งานสะดวก ทำซ้ำได้หลายครั้งอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถทำการทดลองที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีห้องปฏิบัติการมาตรฐานซึ่งต้องลงทุนสูง จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้จากการทดลองวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนทั่วประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้นยังส่งผลให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้และลงมือทำการทดลองด้วยตนเองทั้งในและนอกชั้นเรียน ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจ เข้าใจ และชื่นชอบในการเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” ได้ริเริ่มการส่งเสริมเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2556 มีคุณครูเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 2,000 คน จาก 1,055 โรงเรียน และมีนักเรียนที่มีประสบการณ์การใช้ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนแล้วมากกว่า 3 แสนคน การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายผลการส่งเสริมเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนไปยังโรงเรียนสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศต่อไปในอนาคต โดยในระยะแรกจะนำไปใช้ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. 100 โรงเรียนก่อน

“โครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนการทดลองวิทยาศาสตร์ด้วยหลักการของปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา จะเพิ่มโอกาสให้ครูวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาในสังกัด สพฐ. สามารถนำเทคนิคไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับนักเรียนได้ทำการทดลองด้วยตนเอง ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีใจรักในการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ที่มีความก้าวหน้า และเป็นสาขาอาชีพที่ยังเป็นที่ต้องการมากของประเทศในขณะนี้ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะในการทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ในปีแรกจะคัดเลือกโรงเรียนเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 100 โรงเรียน พร้อมสนับสนุนค่าชุดทดลอง สารเคมีที่ใช้ในการอบรม ครอบคลุมอย่างน้อย 8 การทดลอง เพื่อให้ครูผู้ร่วมโครงการฯ ได้รับชุดทดลองทั้งหมดไปใช้สอนที่โรงเรียน พร้อมคู่มือการทดลอง และผู้ผ่านการอบรมในโครงการจะได้รับวุฒิบัตรเมื่อผ่านการฝึกอบรม สามารถนำชั่วโมงการอบรมบรรจุในการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะของครูผู้สอนต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ด้านนางภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) กล่าวว่า การที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ให้ความสนใจส่งเสริมการเรียนการสอนแนวใหม่นี้ จะช่วยให้โรงเรียนจำนวนมากสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูงได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ในฐานะผู้ร่วมริเริ่มโครงการห้องเรียนเคมีดาว มีความชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ สพฐ. เล็งเห็นความสำคัญของการทดลองแบบ “ย่อส่วน” เพื่อ “ขยายโอกาส” ทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดย สพฐ. จะเป็นกำลังสำคัญในการขยายผล ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยในอนาคต

ขณะที่ ศ.ดร.สุภา หารหนองบัว นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า สมาคมฯ เป็นผู้ริเริ่มใช้เทคนิคปฏิบัติการทดลองเคมีแบบย่อส่วนในประเทศไทย โดยได้ร่วมกับ Dow ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งในด้านการให้องค์ความรู้ การประยุกต์ใช้การทดลองเคมีแบบย่อส่วน มาเสริมการเรียนการสอนในโรงเรียน การส่งเสริมการเรียนรู้และทดลองจริงของนักเรียนในโรงเรียน และการสร้างเครือข่ายครูต้นแบบเคมีแบบย่อส่วน เพื่อนำไปต่อยอดองค์ความรู้ได้มากขึ้น มีการร่วมกันจัดประกวดโครงงานปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนในแต่ละปีมาตลอด 7 ปี รวมทั้งยกระดับและเผยแพร่กิจกรรมในภูมิภาคอาเซียน โดยความร่วมมือในครั้งนี้ สมาคมฯ จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ จัดหาบุคลากรผู้ชำนาญที่เหมาะสมกับหลักสูตรฝึกอบรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาครูต้นแบบ รวมทั้งยังจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในการประเมินผลการเรียนการสอนตามแนวทางการสอนแบบใหม่ของโครงการฯ อีกด้วย

Facebook
Twitter
LinkedIn