สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์

ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

IUPAC เปลี่ยนแปลง น้ำหนักอะตอม ธาตุบางธาตุ

The 27th IUPAC International Conference on Chemical Education (ICCE2024)

ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ได้มีพิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับโลกอย่างเป็นทางการของการประชุม The 27th IUPAC International Conference on Chemical Education (IUPAC ICCE2024) ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ในการนี้สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้รับสิทธิ์ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการระดับโลก IUPAC ICCE2024 จากInternational Union of Pure and Applied Chemistry (IUPAC) ซึ่งมีสมาชิกสมาคมจาก 65 ประเทศทั่วโลก โดยการประชุมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-19 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรม Royal Cliff Hotels Group พัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นเจ้าภาพร่วม โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ เป็นประธานคณะกรรมการจัดการประชุม

หัวข้อการประชุมหลักในครั้งนี้ คือ “Power of Chemistry Education for Advancing SDGs”ซึ่งเน้นการระดมสมองและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านการเรียนการสอนเคมี เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุม นักเรียน และเยาวชนพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และสถานการณ์รุนแรงต่างๆ ของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังได้จัดให้มี symposia และ workshops ในหัวข้อต่าง ๆ ที่เป็นที่สนใจและเป็นประเด็นสำคัญในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้เข้าประชุมได้คิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบที่เชื่อมโยงระหว่างการศึกษากับการดำเนินชีวิตในโลกที่มีความผันผวนเพิ่มมากขึ้น

ในการประชุมนี้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ได้รับเชิญให้มาถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และมีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 56 ประเทศ จำนวนมากกว่า 600 คน เป็นที่น่ายินดีที่ในจำนวนนี้เป็นครูและนักเรียนร่วม 200 คน โดยครึ่งหนึ่งเป็นครูและนักเรียนในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาทางด้านการศึกษาทางเคมีในอีกหลายมิติ ในการนำเสนอผลงานของผู้เข้าร่วมประชุมเป็นการนำเสนอแบบปากเปล่า (oral presentation) จำนวน 163 เรื่อง และแบบโปสเตอร์ (Poster Presentation) จำนวน 209 เรื่อง และมีการอภิปรายพิเศษในหัวข้อ “Power of Chemistry Education for Advancing SDGs” โดยผู้ร่วมอภิปราย ประกอบด้วย

  1. Professor Mary Garson
    Vice President of IUPAC and Emerita Professor of The University of Queensland, Australia
  2. Dr. Kessara Amornvuthivorn
    Program Director, The Southeast Asian Ministers of Education Regional Centre for STEM Education (SEAMEO STEM-ED)
  3. Mr. Sangmin Nam
    Director, Environment and Development Division, United Nations Economic and Social Commission for Asia and Pacific (UNESCAP)
  4. Ms. Poranee Kongamornpinyo
    Southeast Asia Public and Government Affairs Director Dow Thailand
  5. Mr. Le Thanh Vinh
    Assistant Vice Principal Lawrence S. Ting School, Vietnam

นอกจากนี้ กิจกรรมต่างๆ ในงาน ยังมี ประกอบด้วย

ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เวลา 17:00 น. ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานการนำเสนอผลงานโปสเตอร์จำนวน 209 เรื่อง ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญในการประชุมวิชาการระดับโลกครั้งนี้ ที่ห้อง Royal Summit Chamber AB โรงแรม Royal Cliff Beach Hotel พัทยา จังหวัดชลบุรี จึงเป็นโอกาสที่ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งรวมถึงครูและนักเรียนไทยทั้งในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ และโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย จะได้พบท่านรัฐมนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนไทยที่ได้รับโอกาสที่ดีในเวทีระดับโลกครั้งนี้ในการนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์จากโครงงานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน จำนวนมากกว่า 70 เรื่อง ทำให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ในการนำเสนอและตอบข้อซักถามกับผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้าร่วมประชุมจากนานาประเทศ จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการเติบโต ความเข้มแข็งทั้งในด้านวิชาการและด้านบุคลิกภาพในระดับสากลให้แก่นักเรียนซึ่งประเมินค่ามิได้

นอกจากการนำเสนอผลงานแล้วยังมีการประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่เข้าร่วมเสนอโดยมีรางวัลระดับเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ซึ่งจะเป็นการผลักดันและส่งเสริมให้นักเรียนมีพลังและมุ่งมั่นในการคิดค้นผลงานหรือนวัตกรรมต่อไปเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยต่อไป โดยมีโครงงานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน (Science Projects in Schools) เสนอแบบโปสเตอร์ประมาณ 200 ผลงาน ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เวลา 18:00-21:00 น.

ในงานนี้ประเทศไทยได้รับโอกาสที่ดีทั้งในด้านการสนับสนุน พัฒนาด้านการศึกษา และเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก และเป็นกำลังสำคัญในการถ่ายทอดการเรียนการสอนที่ทันสมัยให้กับนักเรียนต่อไป

Facebook
Twitter
LinkedIn